วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พุทธโอษฐ์ หรือ พุทธวจน คำพูดคำสอนโดยตรงจากพระพุทธเจ้า

วาจาของสะใภ้ใหม่

ภิกษุทั้งหลาย. ! เปรียบเหมือนหญิงสะใภ้ใหม่
อันเขาเพิ่งนำมาชั่วคืนชั่ววัน
ตลอดเวลาเท่านั้น ก็ยังมีความละอาย
และความกลัวที่ดำรงไว้ได้อย่างเข้มแข็ง
ในแม่ผัวบ้าง ในพ่อผัวบ้าง ในสามีบ้าง
แม้ที่สุดแต่ในทาสกรรมกรคนใช้.
ครั้นล่วงไปโดยสมัยอื่น
เพราะอาศัยความคุ้นเคยกัน
หญิงสะใภ้นั้น
ก็ตวาดแม่ผัวบ้าง พ่อผัวบ้าง แม้แต่กะสามีว่า
“หลีกไป ๆ พวกแกจะรู้อะไร”
นี้ฉันใด;
ภิกษุทั้งหลาย. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น :
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้
ออกบวชจากเรือน เป็นผู้ไม่มีเรือนได้ชั่วคืนชั่ววัน
ตลอดเวลาเพียงเท่านั้น
หิริและโอตตัปปะของเธอนั้น
ยังดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง
ในภิกษุ ในภิกษุณี ในอุบาสก ในอุบาสิกา
แม้ที่สุดแต่ในคนวัดและสามเณร.
ครั้นล่วงไปโดยสมัยอื่น เพราะอาศัยความคุ้นเคยกัน
เธอก็กล่าว ตวาดอาจารย์บ้าง อุปัชฌาย์บ้างว่า
“หลีกไป ๆพวกท่านจะรู้อะไร” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้
เธอทั้งหลายพึงทำการฝึกหัดศึกษาอย่างนี้ว่า
“เราจักอยู่อย่างมีจิตเสมอกันกับหญิงสะใภ้ใหม่
ผู้มาแล้วไม่นาน” ดังนี้.

เหตุแห่งการเกิดในครรภ์

ภิกษุทั้งหลาย ! การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์
ย่อมมีได้ เพราะการประชุมพร้อมของสิ่ง ๓ อย่าง.
ในสัตว์โลกนี้ แม้มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกัน
แต่มารดายังไม่ผ่านการมีระดู และคันธัพพะ (สัตว์ที่จะเข้าไป
ปฏิสนธิในครรภ์นั้น) ก็ยังไม่เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะด้วย
การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ก็ยังมีขึ้นไม่ได้ก่อน.
ในสัตว์โลกนี้ แม้มารดาและบิดาเป็น ผู้อยู่ร่วมกันและ
มารดาก็ผ่านการมีระดู แต่คันทัพพะของเขาไม่เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะ
การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ก็ยังมีขึ้นไม่ได้นั่นเอง.
ภิกษุทั้งหลาย ! แต่เมื่อใด
มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกันด้วย
มารดาก็ผ่านการมีระดูด้วย
คันธัพพะก็เข้าไปตั้งอยู่โดย
เฉพาะด้วย
การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ย่อมสำเร็จได้
เพราะการประชุมพร้อมกันของสิ่ง ๓ อย่าง
ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ! มารดา ย่อมบริหารสัตว์ที่เกิดใน
ครรภ์นั้น ด้วยความเป็นห่วงอย่างใหญ่หลวงเป็นภาระหนัก
ตลอดเวลาเก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อล่วงไปเก้าเดือนเดือนหรือสิบเดือน
มารดา ย่อมคลอดบุตรนั้นด้วยความเป็นห่วงอย่างใหญ่หลวง
เป็นภาระหนัก ได้เลี้ยงซึ่งบุตรอันเกิดแล้วนั้น ด้วยโลหิต
ของตนเอง.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในอริยวินัย คำว่า “โลหิต” นี้
หมายถึงน้ำนมของมารดา.
ภิกษุทั้งหลาย ! ทารกนั้น เจริญวัยขึ้น มีอินทรีย์
อันเจริญเต็มที่แล้ว เล่นของเล่นสำหรับเด็ก เช่น เล่นไถ
น้อยๆ เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เล่นของเล่นชื่อโมกขจิกะ
เล่นกังหันลมน้อยๆ เล่นตวงของด้วยเครื่องตวงที่ทำด้วย
ใบไม้ เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ทารกนั้น ครั้นเจริญวัยขึ้นแล้ว
มีอินทรีย์อันเจริญเต็มที่แล้ว เป็นผู้เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วย
กามคุณ ๕ ให้เขาบำเรออยู่ทางตาด้วยรูป,
ทางหูด้วยเสียง,
ทางจมูกด้วยกลิ่น,
ทางลิ้นด้วยรส
และทางกายด้วยโผฏฐัพพะ
ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นที่
ยวนตา ยวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่
เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัดย้อมใจ และเป็นที่ตั้งแห่ง ความรัก.
ทารกนั้น ครั้นเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมกำหนัด
ยินดีในรูป ที่ยั่วยวนให้เกิดความรัก ย่อมขัดใจในรูป ที่
ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ไม่เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งสติ อันเป็นไป
ในกาย มีใจเป็นอกุศล ไม่รู้ตามที่เป็นจริง ซึ่งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาป
อกุศลทั้งหลาย.
ทารกนั้น ครั้นได้ยินเสียงด้วยหู... ดมกลิ่นด้วย
จมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมกำหนัดยินดีในธรรมารมณ์
ที่ยั่วยวนให้เกิดความรัก ย่อมขัดใจในธรรมารมณ์ที่เป็นที่
ที่ตั้งแห่งความรัก ไม่เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งสติอันเป็นไปในกาย
มีใจเป็นอกุศล ไม่รู้ตามที่เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศล
ทั้งหลาย.
กุมารน้อยนั้น เมื่อประกอบด้วยความยินดีและ
ความยินร้ายอยู่เช่นนี้แล้ว เสวยเฉพาะซึ่งเวทนาใดๆ
เป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม เขาย่อม
เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งเวทนานั้นๆ.
เมื่อเป็นอยู่เช่นนั้น
ความเพลิน (นันทิ) ย่อมบังเกิดขึ้น
ความเพลินใดในเวทนาทั้งหลาย มีอยู่
ความเพลินอันนั้น เป็นอุปาทาน
เพราะอุปาทานของเขานั้นเป็นปัจจัย
จึงเกิดมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย
จึงเกิดมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
จึงเกิดมีพร้อม
ความก่อขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล.

สุคติของผู้มีศีล

ภิกษุทั้งหลาย !
สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน
เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
กระทำกรรมใดไว้ดีก็ตามชั่วก็ตาม
จักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น.


ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ :-
ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต
วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอาย
ถึงความเอ็นดูกรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย
เขาไม่กระเสือกกระสนด้วย(กรรมทาง) กาย
ไม่กระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง) วาจา
ไม่กระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง) ใจ 

กายกรรมของเขาตรง
วจีกรรมของเขาตรง
มโนกรรมของเขาตรง
คติของเขาตรง อุปบัติ (การเข้าถึงภพ) ของเขาตรง.
ภิกษุทั้งหลาย ! สำหรับผู้มีคติตรง
มีอุปบัติตรงนั้น
เรากล่าวคติอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในบรรดาคติสองอย่างแก่เขา
คือ เหล่าสัตว์ผู้มีสุขโดยส่วนเดียว 
หรือว่าตระกูลอันสูง 
คือตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูลพราหมณ์มหาศาล
หรือตระกูลคหบดีมหาศาล อันมั่งคั่ง
มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
มีทองและเงินมาก มีอุปกรณ์แห่งทรัพย์มาก.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภูตสัตว์ ย่อมมีด้วยอาการ
อย่างนี้ คือ อุปบัติ ย่อมมีแก่ภูตสัตว์
เขาทำกรรมใดไว้
เขาย่อมอุปบัติด้วยกรรมนั้น
ผัสสะทั้งหลายย่อมถูกต้อง
ภูตสัตว์นั้นผู้อุปบัติแล้ว.
ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่าสัตว์ทั้งหลายเป็น
ทายาทแห่งกรรม ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้.

(ในกรณีแห่งบุคคลผู้ไม่กระทำอทินนาทาน ไม่กระทำ
กาเมสุมิจฉาจาร ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณี
ของผู้ไม่กระทำปาณาติบาต ดังกล่าวมาแล้วข้างบนทุกประการ
และยังได้ตรัสเลยไปถึง วจีสุจริตสี่ มโนสุจริตสาม ด้วยข้อความ
อย่างเดียวกันอีกด้วย)

เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน

สารีบุตร ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้
เห็นอย่างนี้ว่า ชั่วเวลาที่บุรุษนี้ยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิท
ประกอบด้วยความหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย, ก็ยังคง
ประกอบด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไวอยู่เพียงนั้น,
เมื่อใดบุรุษนี้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลนาน ผ่านวัยไปแล้ว
มีอายุ ๘๐ ปี, ๙๐ ปีหรือ ๑๐๐ ปี จากการเกิด, เมื่อนั้น เขา
ย่อมเป็นผู้เสื่อมสิ้นจากปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไว.
สารีบุตร ! ข้อนี้ เธออย่าพึงเห็นอย่างนั้น, เรานี้แล
ในบัดนี้เป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาแล้ว
วัยของเรานับได้ ๘๐ ปี, ...ฯลฯ...
สารีบุตร ! ธรรมเทศนาที่แสดงไปนั้น ก็มิได้
แปรปรวน บทพยัญชนะแห่งธรรมของตถาคต ก็มิได้
แปรปรวน ปฏิภาณในการตอบปัญหาของตถาคต ก็มิได้
แปรปรวน ฯลฯ,
สารีบุตร ! แม้ว่าเธอทั้งหลาย จักนำเราไปด้วย
เตียงน้อย (สำหรับหามคนทุพพลภาพ), ความแปรปรวนเป็น
อย่างอื่น แห่งปัญญาอันเฉียบแหลม ว่องไว ของตถาคต
ก็มิได้มี.
สารีบุตร !
ถ้าผู้ใดจะพึงกล่าวให้ถูกให้ชอบว่า
“สัตว์มีความไม่หลงเป็นธรรมดา
บังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์โลก,
เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

ดังนี้แล้ว ผู้นั้นพึงกล่าวซึ่งเราผู้เดียวเท่านั้น.
ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของพระผู้มีพระภาคอยู่ พลาง
กล่าวถ้อยคำนี้ ว่า :-)
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์; ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง
เหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีพระองค์ค้อมไป
ข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลาย ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งพระจักษุ โสตะ
ฆานะ ชิวหา กายะ”
อานนท์ ! นั่น ต้องเป็นอย่างนั้น; คือ
ความชรามี (ซ่อน) อยู่ในความหนุ่ม,
ความเจ็บไข้มี (ซ่อน) อยู่ในความไม่มีโรค,
ความตายมี (ซ่อน) อยู่ในชีวิต;
ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็
เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลาย
ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้.

พระผู้มีพระภาค ครั้นตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัส
ข้อความนี้ (เป็นคำกาพย์กลอน) อีกว่า :-
โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย !
อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย !
กายที่น่าพอใจบัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว.
แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
ทุกคนก็ยังมีความตายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใคร ๆ
มันย่ำยีหมดทุกคน.

อานนท์ ! บัดนี้ เรามีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุ
สังขารแล้ว ณ ปาวาลเจดีย์นี้. (พระอานนท์ได้สติจึงทูลขอให้
ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ด้วยอิทธิบาทภาวนา กัปป์หนึ่งหรือยิ่งกว่ากัปป์;
ทรงปฏิเสธ)
อานนท์ ! อย่าเลย, อย่าวิงวอนตถาคตเลย มิใช่
เวลาจะวิงวอนตถาคตเสียแล้ว. (พระอานนท์ทูลวิงวอนอีกจน
ครบสามครั้ง ได้รับพระดำรัสตอบอย่างเดียวกัน, ตรัสว่าเป็นความผิดของ
พระอานนท์ผู้เดียว, แล้วทรงจาระไนสถานที่ ๑๖ แห่ง ที่เคยให้โอกาสแก่
พระอานนท์ในเรื่องนี้ แต่พระอานนท์รู้ไม่ทันสักครั้งเดียว)
อานนท์ ! ในที่นั้น ๆ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต
ตถาคตจักห้ามเสียสองครั้ง แล้วจักรับคำในครั้งที่สาม,
อานนท์ ! ตถาคตได้บอกแล้วมิใช่หรือ ว่าสัตว์
จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น, สัตว์จะได้
ตามปรารถนา ในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า, ข้อที่สัตว์จะหวัง
เอาสิ่งที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีการแตกดับ
เป็นธรรมดา ว่าสิ่งนี้อย่าฉิบหายเลยดังนี้ ย่อมไม่เป็นฐานะ
ที่มีได้ เป็นได้.
มู. ม. ๑๒/๑๖๓/๑๙๒, มหาวาร. สํ ๑๙/๒๘๗/๙๖๓.

สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่
ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต
ทั้งที่มั่งมี และ ยากจน
ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปถึง ในเบื้องหน้า.
เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้ว
ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้ว และยังดิบ
ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด
ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น
วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว
เราจักละพวกเธอไป
สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว
ภิกษุ ท. ! พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
มีสติ มีศีลเป็นอย่างดี
มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี
ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด
ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว
จักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น