วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

หมูทอดน้ำปลา



หมูทอดน้ำปลา สูตรทำง่าย ท้าให้ลอง


หมูทอดน้ำปลา สูตรทำง่าย ท้าให้ลอง
หมูทอดน้ำปลา สูตรทำง่าย ท้าให้ลอง

เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก หมอดูพาแด๊ก

          หมูทอด เมนูง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่จะทำให้ออกมาอร่อยโดนใจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเจอวิธีทำหมูทอดน้ำปลาสูตรนี้เข้าไป บอกเลยว่าง่ายมาก !

           ถ้าลองได้หมูทอดน้ำปลา หรือหมูทอดน่ากิน ๆ แบบนี้มากินกับข้าวสวยร้อน ๆ แค่นี้ก็ฟินแล้วเนอะ ถือเป็นเมนูคุ้นเคยกินกันมาตั้งแต่เด็กยันโต เด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี แต่ถ้าทำกินเอง เชื่อว่ามีหลายครั้งที่ทอดออกมาแล้วไม่อร่อย บ้างก็หมักไม่เข้าเนื้อ จืดไปบ้าง เค็มไปบ้าง ไม่อร่อยอย่างที่ควรจะเป็น วันนี้กระปุกดอทคอมนำวิธีทำหมูทอดน้ำปลาสูตรทำง่าย ๆ จาก เฟซบุ๊ก หมอดูพาแด๊ก มาฝาก ที่แค่เห็นภาพเชื่อว่า หลายคนกำลังนั่งซับน้ำลายกันอยู่แน่ ๆ ไปดูวิธีทำหมูทอดน้ำปลากันเลยจ้า 

 ส่วนผสม
           
           หมูสามชั้น 1 กิโลกรัม

           น้ำปลาอย่างดี 7-8 ช้อนโต๊ะ 

           พริกไทยขาวป่นตามชอบ

           ไข่ไก่ 1 ฟอง

           ผงปรุงรส เล็กน้อย

           แป้งประกอบอาหารโกกิ 10-15 ช้อนโต๊ะ 

           น้ำเย็น 

           น้ำมันปาล์ม สำหรับทอด

           น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ

           เกลือเล็กน้อย

 วิธีทำ
           
           1. ใช้มีดแกะสลักจิ้มให้ทั่วชิ้นหมู (เคล็ดลับ : สำคัญมากคือ ไปซื้อมีดแกะสลักมาจิ้ม ๆ ให้ทั่วหมูเลยครับ จิ้มหนังด้วย หมูจะนิ่ม น้ำหมักจะเข้าเนื้อหมู สุกเร็วครับ)
           
           2. หมักหมูโดยใส่น้ำปลา พริกไทยป่น ไข่ไก่ ผงปรุงรสเล็กน้อย และแป้งประกอบอาหารโกกิ จากนั้นพรมน้ำเย็นบาง ๆ ลงไป แล้วค่อย ๆ นวดจนเข้ากันประมาณ 5 นาที จากนั้นหมักทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที

หมูทอดน้ำปลา สูตรทำง่าย ท้าให้ลอง
           3. ใส่น้ำมันปาล์มลงในกระทะให้ท่วม ใส่น้ำส้มสายชูลงในน้ำมัน (เพื่อหมูจะไม่อมน้ำมัน) และเกลือเล็กน้อย (กันหมูติดกระทะ) ใช้ไฟค่อนข้างแรง จากนั้นนำหมูลงทอด โดยทอดทีละข้างให้เกรียมจนเนื้อหมูเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล (ตามรูป) จากนั้นตักขึ้นสะเด็ดน้ำมัน หั่นเป็นชิ้น ๆ พร้อมเสิร์ฟ

หมูทอดน้ำปลา สูตรทำง่าย ท้าให้ลอง

หมูทอดน้ำปลา สูตรทำง่าย ท้าให้ลอง
          เป็นอย่างไรบ้างคะ กับวิธีทำหมูทอดน้ำปลาจานนี้ ทำง่าย ๆ แถมยังอร่อยแบบนี้ ขอท้าให้ลองค่ะ

ไข่ระเบิด

ไข่ระเบิด
ส่วนผสม
ไข่ไก่ 4 ฟอง
หมูบด 1 ถ้วยตวง
ข้าวโพดอ่อน 1/4 ถ้วยตวง
แครอท 1/4 ถ้วยตวง
เม็ดถั่วลันเตา 1/4 ถ้วยตวง
ใบกะเพราะทอดกรอบ 1/2 ถ้วยตวง
พริกขี้หนูสด 15 เม็ด
พริกไทย 1 ช้อนชา
รากผักชี้ 5 ราก
กระเทียม 10 กลีบ
น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 1/2 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันพืช
วิธีทำ
1. โขลกพริกขี้หนูสด พริกไทย รากผักชี กระเทียมให้ละเอียด
2. ทอดไข่ดาว พักไว้
3. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพอร้อน ใส่น้ำพริกแกงที่โขลกไว้ผัดให้หอม ใส่หมูบด เม็ดถั่วลันเตา แครอท ข้าวโพดอ่อน ผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล
4. ตักราดบนไข่ดาว (ข้อ 2) โรยหน้าด้วยใบกะเพราทอดกรอบ


ม.ล.ปิ่น มาลากุล

ม.ล.ปิ่น มาลากุล



            ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้มีคุณูปการยิ่งต่อสังคมไทย ท่านเป็น นักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ มีผลงานอันเป็นคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาของชาติอย่างต่อเนื่องยาวนาน และยังคงส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน
          ตลอดระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเวลา 22 ปี ท่านได้วางนโยบายด้านการศึกษาของชาติ สร้างสรรค์งานการศึกษา มีความคิดก้าวไกล ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงขึ้น ณ ถนนประสานมิตร สนองพระราชกระแสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ว่า “อย่าทิ้งเรื่องนี้เป็นอันขาด” 

        ริเริ่มการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในภูมิภาค อาทิ จัดตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หอวชิราวุธานุสรณ์ ท้องฟ้าจำลอง วิทยุการศึกษา โครงการพัฒนาการศึกษาหลายโครงการ และ SEAMEO (The Southeast Asian Ministers of Education Organization) ก่อให้เกิดความร่วมมือทางการศึกษากับนานาชาติและองค์การระหว่างประเทศ เป็นผลให้การศึกษาของไทยเจริญก้าวหน้าอย่างมีระบบแบบแผน และประสานประโยชน์ ทางการศึกษากับนานาประเทศ เป็นที่ประจักษ์ทั่วกัน
 
       พุทธศักราช 2530 ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ด้วยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ มีผลงานประพันธ์รวม 207 เรื่อง และวันที่ 24 ตุลาคม 2546 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศในวาระครบ 100 ปีเกิด ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ว่าท่านคือผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านการศึกษา วัฒนธรรม วรรณกรรม และการสื่อสาร
ชีวประวัติ
                ม.ล.ปิ่น มาลากุล เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2446 สืบเชื้อสายมาจากต้นราชสกุล มาลากุล ณ อยุธยา  คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์  พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอันประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี บิดามารดาของม.ล.ปิ่นคือเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม (สกุลเดิม วสันตสิงห์)         
                ท่านได้สมรสกับท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ไกรฤกษ์) ไม่มีบุตรธิดา
ประวัติการศึกษา
          ปี พ.ศ. 2450 เมื่อหม่อมหลวงปิ่นมีอายุได้ 4 ขวบ ท่านได้เริ่มเรียนหนังสือที่บ้านกับครูแฉล้ม (แฉล้ม คุปตารักษ์) ต่อมาได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (ณ สมัยนั้นเป็นโรงเรียนวัดราชบูรณะ) และต่อมาในปี พ.ศ. 2457 หม่อมหลวงปิ่นก็เข้าศึกษาที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

         ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนักเรียนมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง ไม่ได้เรียนที่โรงเรียนอีก แต่ปลายปีนั้นก็ยังคงมาสอบไล่และสามารถสอบผ่านชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งทำให้เลื่อนไปเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ก็ไม่ได้มาเรียนหรือมาสอบอีกเลย
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ได้รับทุนของกระทรวงธรรมการ จึงออกไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ โดยไปเข้าเรียนที่ The School of Oriental and African Studies, University of London (SOAS) หรือวิทยาลัยบูรพศึกษาและอาฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน และได้รับประกาศนียบัตรวิชาภาษาและวรรณคดีบาลีและสันสกฤต แล้วได้ย้ายไปศึกษาต่อที่คณะบูรพคดีศึกษา (Faculty of Oriental Studies) สถาบันตะวันออกของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประสบความสำเร็จโดยได้ปริญญาตรี (B.A.) เกียรตินิยมสาขาบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) วิชาเอกภาษาบาลีและสันสกฤต ในปี พ.ศ. 2471
            ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทจนสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (M.A.) ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ท่านสังกัดวิทยาลัยบเร๊สโนส (Brasenose College) และในปี พ.ศ. 2498 ท่านก็ได้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (รุ่นแรก)

รับราชการ

        ในปีพ.ศ. 2455 ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาได้เป็นอาจารย์ประจำกองแบบเรียนกรมวิชาการ อาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2474 ในปีพ.ศ. 2475 เป็นอาจารย์โท อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้เป็นหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยม คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรักษาการในตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนมัธยมหอวังในปีพ.ศ. 2477 อีกด้วย

         หม่อมหลวงปิ่นได้เป็นอาจารย์เอก อันดับ 1 และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2480 5 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษาอีกตำแหน่งหนึ่งอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2487 ท่านได้พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและเป็นที่ปรึกษาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและทำงานในหน้าที่เลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ในปี พ.ศ. 2489 ท่านดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และในปี พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2496 ท่านได้เป็นรักษาการอธิบดีกรมวิชาการ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2497 ได้เป็นรักษาการอธิบดีกรมการฝึกหัดครู รักษาการอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา ศาสตราจารย์พิเศษในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 ถึง 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2512 เป็นเวลายาวนานถึง 12 ปีเศษ

ผลงานทางด้านการศึกษา 
1. ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท โรงเรียนมัธยมสหศึกษา โรงเรียนแรกในประเทศไทย
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาขึ้น เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 โดยนักเรียนเริ่มเรียนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2481 โดยมี ฯพณฯ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียน ในปีแรกๆ โรงเรียนได้เจริญขึ้นเป็นลำดับ เช่น ทางด้านวิชาการมีผลเป็นที่น่าพอใจ การสร้างตึก 2 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2482 และต่อมาได้สร้างตึก 3 ไปจนจดถนนอังรีดูนังต์ ในเวลานี้นอกจากผลงานทางด้านวิชาการจะเป็นที่น่าพอใจแล้ว นักเรียนยังได้แสดงความสามารถในการเล่นกีฬาต่างๆ ที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้นำเข้ามาในโรงเรียน เช่น ฮอกกี้ รักบี้ และฟุตบอล เข้าเกณฑ์ที่กล่าวได้ว่า "เรียนก็เด่น เล่นก็ดี กีฬาเลิศ"

2. ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนประถมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในระดับประถมศึกษา
3. ริเริ่มตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถนนประสานมิตร ต่อมาเป็นวิทยาลัยวิชาการ ศึกษาประสานมิตร  และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในปัจจุบัน

4. ริเริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์(ทับแก้ว )และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ประชากรในชนบทได้มีโอกาสเรียนถึงระดับอุดมศึกษา
สถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อธิการบดีในขณะนั้น มีนโยบายที่จะเปิดคณะวิชาและสาขาวิชาที่ หลากหลายขึ้น แต่เนื่องจากบริเวณพื้นที่ในวังท่าพระคับแคบมาก ไม่สามารถจะขยายพื้นที่ออกไปได้ จึงได้ขยายเขตการศึกษาไปยังพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม โดยจัดตั้งคณะอักษรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๑ คณะศึกษาศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๓ และคณะวิทยาศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๕ ตามลำดับ หลังจากนั้น จัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๙ คณะวิศวกรรมมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๓๕ สาเหตุที่เลือกพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ให้เหตุผลไว้ดังนี้
• ประการแรก พระราชวังสนามจันทร์เคยเป็นพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้สนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งในทาง โบราณคดีและศิลปะทั้งปวง ทรงเป็นนักโบราณคดีและศิลปินชั้นเยี่ยมโดยเฉพาะ ทาง วรรณศิลป์ ทรงสนับสนุนนาฏศิลป์ตลอดรัชสมัยของพระองค์
• ประการที่สอง บริเวณพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ตั้งของเทวาลัยคเณศ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น นอกจากนี้ พระคเณศยังเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ และเป็นตราของทางมหาวิทยาลัยศิลปากร อยู่แล้ว
• ประการสุดท้าย ที่จังหวัดนครปฐมมีพระปฐมเจดีย์ประดิษฐานอยู่ นับได้ว่าเป็น ศูนย์กลางของโบราณคดีและศิลปะที่สำคัญในประเทศไทย ดังนั้นบริเวณพระราชวัง สนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม จึงเหมาะที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร
จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ.๒๕๐๑ ขณะที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีโครงการเกี่ยวกับการศึกษาโครงการหนึ่งชื่อว่า "โครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค" คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบ ได้มีการประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.๒๕๐๒ ได้มติว่าจะมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะประชากรส่วนใหญ่ก็สนับสนุน สภาพแวดล้อมก็เหมาะสม และได้เสนอเรื่องราวให้คณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและอนุมัติ ในที่สุด พ.ศ.๒๕๐๓ ก็ได้ดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มเปิดสอนในปี พ.ศ.๒๕๐๗ และเปิดอย่างเป้นทางการวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๐๘ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาท ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีครั้งนี้

5 ริเริ่มจัดตั้งห้องสมุดเสียงขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อรวบรวมวรรณกรรมร้อยแก้วด้านพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทและปาฐกถาของผู้มีชื่อเสียงด้านต่าง ๆ 
6. พัฒนาการศึกษาหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาการศึกษาส่วนภูมิภาค โครงการพัฒนาการศึกษา และโครงการฝึกหัดครูชนบท ก่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา

7. ขยายงานของกรม กองต่าง ๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นำเทคโนโลยีด้านการศึกษาเข้ามาใช้ เช่น จัดตั้งวิทยุการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น

8. ก่อตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์เพื่อเป็นที่ระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นคลังสมบัติทางปัญญาในการค้นคว้ารวบรวมและเผยแพร่พระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน
ม.ล.ปิ่น มาลากุล ผู้ริเริ่ม เป็นกำลังสำคัญในการก่อกำเนิด “หอวชิราวุธานุสรณ์” ผู้เสียสละกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด และกำลังทรัพย์ บริจาค 1 ล้าน 6 แสนบาท เพื่อเชิดชูเกียรติภูมิของชาติ ให้เป็นศูนย์สรรพวิทยาการ และศิลปวัฒนธรรมในวงการศึกษายิ่งใหญ่
“หอวชิราวุธานุสรณ์” เป็นอาคารทรงไทยขนาดใหญ่ ณ บริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เพื่อเฉลิมฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 8 รอบ และ 100 พรรษา สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า องค์การยูเนสโก ยกย่องสดุดีทรงเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2524
ครั้งหนึ่งในชีวิต เกิดเหตุจลาจลเพื่อแย่งอำนาจรัฐบาล วันที่ 9 กันยายน 2528 หลังการประชุม ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ ม.ล.ปิ่นยังไม่กลับบ้าน มีผู้ถามท่านว่า...”เหตุใดท่านจึงไม่กลับ เมื่อเหตุการณ์ไม่สงบ” ท่านตอบว่า  “หอวชิราวุธานุสรณ์...คือบ้านฉัน”

9. จัดสร้างค่ายหลวงบ้านไร่ จังหวัดราชบุรี เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมความรู้และเป็นค่ายพักแรมหรือจัดกิจกรรมของเยาวชน
ผลงานด้านวัฒนธรรมและวรรณกรรม

            ม.ล. ปิ่น มาลากุลได้รับการอบรมปลูกฝังให้รักและชื่นชมวัฒนธรรมของชาติมาแต่เยาว์วัย ท่านได้เป็นมหาดเล็กรับใช้รุ่นแรกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเวลานานถึง 6 ปี ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากพระองค์ท่านมากมายหลายด้าน โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับวรรณกรรม

            พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงฝึกอบรมและทรงมอบหมายหน้าที่พิเศษให้ท่านจัดเก็บพระราชนิพนธ์บทละคร และเมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องใดแล้ว จะพระราชทานให้อ่านก่อน แล้วจึงนำมาอ่านให้ที่ประชุมฟังในภายหลัง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้รับพระราชานุญาตเป็นพิเศษ ให้แก้ไขต้นฉบับลายพระหัตถ์ได้  หากทรงเผลอพระราชนิพนธ์ผิดไป นอกจากนี้ทรงตั้งให้เป็น บรรณาธิการดุสิตสมิตอีกด้วย  ม.ล.ปิ่น มาลากุล จึงปราดเปรื่องในเชิงวรรณศิลป์ สามารถแต่งหนังสือได้แทบทุกประเภทภายในเวลาอันรวดเร็ว สืบเนื่องมาจากการได้อยู่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีความเป็นอัจฉริยะทางด้านอักษรศาสตร์ และได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก 


ท่านมีผลงานที่ตีพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่รวม 207 เรื่อง แบ่งออกเป็น 5 หมวด คือ 
  • หมวดการศึกษา 57 เรื่อง 
  • หมวดบทละคร 58 เรื่อง 
  • หมวดคำประพันธ์ 32 เรื่อง 
  • หมวดการท่องเที่ยว 8 เรื่อง
  • หมวดเบ็ดเตล็ด 52 เรื่อง 
  • ในจำนวนนี้ที่สำคัญ ได้แก่ ศึกษาภาษิต 109 บท คำประพันธ์บางเรื่อง 200 เรื่อง บทเพลง 24 เพลง บทนิราศ 8 เรื่อง และบทละคร 58 เรื่อง
เกียรติคุณทางวัฒนธรรมของท่านเป็นที่ประจักษ์ดังนี้
  • ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณคดี สาขาวรรณคดี และภาษาศาสตร์
  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2430 
  • ผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น
  • ได้รับพระเกี้ยวทองคำ  ในฐานะผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น
  • รางวัลอาเซียน สาขาวรรณกรรม
  • ปูชนียบุคคลด้านภาษาและวรรณกรรมไทย
ตัวอย่างผลงานด้านวรรณศิลป์

อันอำนาจใดใดในโลกนี้
ไม่เห็นมีเปรียบปานการศึกษา
สร้างคนหาค่ามิได้ในโลกา
ขึ้นจากผู้ที่หาค่าไม่มี

------------------------------------------------------
กล้วยไม้มีดอกช้า..........ฉันใด
การศึกษาเป็นไป...........เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราวไร......งามเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น.......เสร็จแล้วแสนงาม
------------------------------------------------------
การเป็นครูนั้นไซร้ไม่ลำบาก
แต่สอนดีนั้นยากเป็นนักหนา
เพราะต้องใช้ศิลปวิทยา
อีกมีความเมตตาอยู่ในใจ
------------------------------------------------------
ตระเวนไปอยากได้การศึกษา
จนยุโรปอเมริกาก็ถ้วนทั่ว
มนุษย์เชี่ยวเชิงวิชาอย่างน่ากลัว
แต่ใจคนจะชั่วไม่เปลี่ยนแปลง
ระลึกคุณพระพุทธสุดประเสริฐ
สงบเกิดแก่ใจได้รู้แจ้ง
ฝึกฝนจิตส่วนร้ายหายรุนแรง
ศึกษาแหล่งที่แท้อยู่แค่ใจ
------------------------------------------------------

สืบ นาคะเสถียร

วันสืบ นาคะเสถียร 1 กันยายน


วันสืบ นาคะเสถียร 1 กันยายน ของทุกปีเป็นวันรำลึกการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ประวัติเป็นมาอย่างไร มาดูกัน  
          หากเอ่ยถึงชายคนหนึ่งที่รักป่ายิ่งกว่าชีวิต ชื่อของ สืบ นาคะเสถียร คงยังติดตรึงใจอยู่ในใจใครหลายคน เพราะเขาไม่ใช่เพียงคนที่รักและอุทิศตัวของเขาเพื่ออนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้เท่านั้น แต่..เขาอุทิศทั้งชีวิต และจิตวิญญาณของเขาไว้ที่นั่น ด้วยเสียงปืนที่ลั่นขึ้นกลางป่าห้วยขาแข้ง ในวันที่ 1 กันยายน 2533 เขาหวังว่าจะมีส่วนทำให้ผู้คนเหลียวมามองป่ามากกว่าเดิมด้วยการเสียสละชีวิต 

          และในวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี ถือว่าเป็นวันรำลึกถึงการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยในปี 2557 นับเป็นปีที่ 24 สำหรับการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร ซึ่งจะมีการจัดงาน “ก้าวสู่ 24 ปี สืบ นาคะเสถียร” ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม–1 กันยายน 2557 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่tinyurl.com/kgd8e9q หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary 
          ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณูปการของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ได้ทุ่มเททั้งชีวิต และจิตวิญญาณในการอนุรักษ์ป่าและสรรพชีวิตในผืนป่าของคนทั้งชาติ นอกจากนี้ยังปลุกจิตสำนึกให้คนไทยอนุรักษ์ผืนป่าและเห็นความสำคัญของป่าไม้ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ "ป่าห้วยขาแข้ง" และ "ทุ่งใหญ่นเรศวร" ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา

          "ป่าไม้เป็นบ่อเกิดของทุกสรรพสิ่ง มนุษย์เราเป็นทั้งผู้ใช้ และผู้ทำลายมรดกของธรรมชาติมาอย่างช้านาน จะมีสักกี่คน ที่ตระหนัก และระลึกถึงคุณค่าของผืนป่า เทียบเท่ากับผู้เสียสละคนนี้..." สืบ นาคะเสถียร
สืบ นาคะเสถียร คือใคร 


สืบ นาคะเสถียร

          สืบ นาคะเสถียร มีชื่อเดิมว่า "สืบยศ" เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม สืบ นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดย สืบ นาคะเสถียร เป็นบุตรชายคนโต

          ในวัยเด็ก สืบ นาคะเสถียร ได้ช่วยงานในนาของมารดาด้วยความอดทน บุคลิกประจำตัวคือ เมื่อเขาสนใจ หรือตั้งใจทำอะไรแล้ว ก็จะมีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำอย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ

          เมื่อเรียนจบชั้นประถม 4 สืบ นาคะเสถียร  ต้องจากครอบครัวไปเรียนที่ โรงเรียนเซนหลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงเข้าศึกษาในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒนวิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เช่นเดียวกัน จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518

          สืบ นาคะเสถียร ได้เริ่มชีวิตข้าราชการ โดยบรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาจากบริติชเคาน์ซิล เรียนต่อในระดับปริญญาโทอีกครั้ง สาขาอนุรักษวิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ในอังกฤษ และจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2524

          สรุปประวัติสืบ นาคะเสถียร แบบคร่าว ๆ ดังนี้ 
          - พ.ศ. 2502 สืบ นาคะเสถียร มีนิสัยทำอะไรมักจะทำให้ได้ดีตั้งแต่เด็ก และเมื่อจบประถม 4 สืบได้ย้ายไปเรียนโรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่งและนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน 

          - พ.ศ. 2510-2514 สืบ นาคะเสถียร อยากเรียนสถาปัตยกรรมเพราะชอบด้านศิลปะ แต่มาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่ 35

          - พ.ศ. 2516-2517 เมื่อสำเร็จการศึกษา สืบ นาคะเสถียร ได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์

          - พ.ศ. 2518 สืบ นาคะเสถียร สอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่ จังหวัดชลบุรี

          - พ.ศ. 2522 ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในสาขาอนุรักษวิทยา

          - พ.ศ. 2524 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

          - พ.ศ. 2528 เดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับ ดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจองในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่ สืบ นาคะเสถียร มาก

          - พ.ศ. 2529 หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่ สืบ นาคะเสถียร รู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย

          - พ.ศ. 2530 สืบ นาคะเสถียร ได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบเริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”

          - พ.ศ. 2531 สืบ นาคะเสถียรและเพื่อนอนุรักษ์ ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”

          - พ.ศ. 2532 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบพบปัญหาต่าง ๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที

          - 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร สะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างจริงจัง

          - 18 กันยายน พ.ศ. 2533 ผู้ใหญ่และพ้องเพื่อนนักอนุรักษ์ ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียร

          - 26 เมษายน พ.ศ. 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทรงเปิดอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร

          - พ.ศ. 2542 มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศว่า ในรอบ 50 ปี ท่านเสียดายการจากไปของสามัญชนผู้ใดมากที่สุด ปรากฏว่าสืบ นาคะเสถียร ติดอันดับที่ 2 

ผลงานของ สืบ นาคะเสถียร


บ้านพักของ สืบ นาคะเสถียร

          หลังสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ สืบ นาคะเสถียร กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการ และประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากร ฝึกอบรมพนักงาน พิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น

          จนกระทั่ง พ.ศ. 2526 สืบ นาคะเสถียร ได้ขอย้ายตัวเอง เข้ามาเป็นนักวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว "ผมหันมาสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะวิ่งไปจับคน เพราะรู้ว่าจับได้แต่คนตัวเล็ก ๆ ตัวใหญ่ ๆ จับไม่ได้ก็เลย อึดอัดว่ากฎหมายบ้านเมืองนั้นมันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ยุติธรรมเรารังแกชาวบ้าน"

          ในระยะนี้ เป็นจังหวะที่สืบได้แสดงความเป็นนักวิชาการออกมาอย่างเต็มที่ งานวิจัยศึกษาสัตว์ป่าเป็นงานที่ สืบ นาคะเสถียร ทำได้ดี และมีความสุขในการทำงานวิชาการมาก สืบ นาคะเสถียร รักงานด้านนี้เป็นชีวิตจิตใจ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาได้ผูกพันกับสัตว์ป่าอย่างจริงจัง งานวิจัยในช่วงแรกของสืบ เป็นการวิจัยนก สืบได้เริ่มใช้เครื่องมือในการบันทึกงานวิจัย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ได้กลายเป็นผลงานการวิจัยสัตว์ป่าชิ้นสำคัญของเมืองไทยในเวลาต่อมา ได้แก่ ภาพถ่ายสไลด์สัตว์ป่าหายากนับพันรูป ม้วนเทปวิดีโอภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และปัญหาการทำลายป่าในเมืองไทยหลายสิบม้วน โดยผลงานทั้งหมด สืบเป็นคนถ่ายและตัดต่อเองทั้งหมด

นอกจากนี้ สืบ นาคะเสถียร ยังมีผลงานทางวิชาการที่เด่น ๆ อีก เช่น

           ทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่ อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2524

           รายงานการสำรวจนก บริเวณอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2526

           การศึกษานิเวศวิทยาของสัตว์ป่า ในบริเวณโครงการ ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาภูพาน ตามพระราชดำริ 2528

           นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรและ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง 2529

           รายงานผลการจับเนื้อทราย ที่เกาะกระดาษ 2529

           เลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมบางประการ 2529

           นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี และ จ.ตาก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และ จ.ตาก กุมภาพันธ์ 2530 โดย สืบ นาคะเสถียร, นริศ ภูมิภาคพันธุ์, ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ

           การอพยพสัตว์ป่า ในอ่างเก็บน้ำรัชชประภา สัมมนาสัตว์ป่า 2532

           โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แควใหญ่ตอนบน (Assessment on Report and Impact Assessment Plan on Forestry and Wildlife of Upper Quae Yai Project)

ความพยายามรักษาผืนป่าของ สืบ นาคะเสถียร

         


รูปปั้นที่ระลึก สืบ นาคะเสถียร

          ในปี พ.ศ. 2529 สืบ นาคะเสถียร ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งน้ำเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบก็รู้ดีว่า มีสัตว์อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องตายจากการสร้างเขื่อน ทำให้เขาเริ่มเข้าใจปัญหา และตระหนักว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยเหลือป่าและสัตว์ป่าจากการถูกทำลายได้

          สืบ นาคะเสถียร จึงเปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการมาเป็นนักอนุรักษ์ ได้เข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี โดยสืบยืนยันว่า การสร้างเขื่อนเป็นทำลายล้างเผ่าพันธุ์แหล่งอาหาร ตลอดจนที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง กระทั่งความช่วยเหลือจากมนุษย์ ไม่สามารถชดเชยได้ โดยการรวมพลังของกลุ่มนักอนุรักษ์ ซึ่งในที่สุดโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนได้ถูกระงับไป

          ในปี พ.ศ. 2532 สืบ นาคะเสถียร เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งพร้อม ๆ กับปัญหามากมายที่เขาต้องแก้ไขให้ได้ อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า

          ด้วยความที่ป่าห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อุดมด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่ามากมาย ทำให้หลายฝ่ายต่างจ้องบุกรุก เพื่อหาประโยชน์จากผืนป่า สืบ นาคะเสถียร ได้พยายามนำเสนอข้อมูลต่อยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันจะเป็นเกราะป้องกันผืนป่าแห่งนี้ไว้ให้ได้ เพราะจะทำให้คนหันมาหวงแหนผืนป่านี้มากขึ้น สืบได้แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะรักษาป่าผืนนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง ได้ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า "ผมมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน" 
การเสียสละชีวิตเพื่อส่วนรวมของ สืบ นาคะเสถียร



ข้อความที่ สืบ นาคะเสถียร ทิ้งไว้



ข้อความที่ สืบ นาคะเสถียร ทิ้งไว้



ข้อความที่ สืบ นาคะเสถียร ทิ้งไว้



ข้อความที่ สืบ นาคะเสถียร ทิ้งไว้



ข้อความที่ สืบ นาคะเสถียร ทิ้งไว้



ข้อความที่ สืบ นาคะเสถียร ทิ้งไว้



ข้อความที่ สืบ นาคะเสถียร ทิ้งไว้

          แม้ว่า สืบ นาคะเสถียร จะตั้งเจตนารมณ์ที่จะรักษาผืนป่าห้วยขาแข้งไว้ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน แต่กระนั้นสืบก็ยังไม่สามารถปกป้องป่าได้ เนื่องจากการดูแลผืนป่าขนาดมากกว่าหนึ่งล้านไร่ ด้วยงบประมาณ และกำลังคนที่จำกัด รวมถึงการทุจริตของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ อีกทั้งปัญหาความยากจนของชาวบ้านที่อยู่อาศัยโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่หวังผลประโยชน์ ว่าจ้างชาวบ้านในเขตป่าสงวนเข้ามาตัดไม้ และลักลอบล่าสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์

          ในความคิดของ สืบ นาคะเสถียร แนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาการทำลายป่าได้ คือการสร้างแนวป่ากันชนขึ้นมา ให้ชาวบ้านอพยพออกนอกแนวกันชน และพัฒนาแนวกันชนให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ปรากฏว่า ไม่ได้รับความสนใจ และความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

          จนกระทั่งเช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงด้วยปืนหนึ่งนัดในป่าลึก ที่ห้วยขาแข้ง การเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร เป็นจุดเริ่มต้นของ "ตำนานนักอนุรักษ์ไทย สืบ นาคะเสถียร ผู้ที่รักป่าไม้ สัตว์ป่าและธรรมชาติ ด้วยกายและใจ"

          หลังจากการเสียชีวิตของสืบ บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่าไม้และผู้เกี่ยวข้อง ได้เปิดประชุมเพื่อหามาตรการป้องกันการบุกรุกป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดย สืบ นาคะเสถียร ได้พยายามจัดตั้งการประชุมหลายสิบครั้ง แต่ไม่มีการตอบรับจากเจ้าหน้าที่สักครั้งจนกระทั่งการเสียชีวิตของสืบ ทำให้มีข้อกล่าวว่า หากไม่มีเสียงปืนนัดนั้น การประชุมดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน 
          ความพยายามของสืบก็เป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2534 เมื่อองค์การยูเนสโกประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งมรดกโลกในที่สุด 
          การอุทิศตนของ สืบ นาคะเสถียร นั้น เป็นการปลุกคนให้ตื่นตัว และลุกขึ้นมาสนใจผืนป่าอย่างจริงจัง วันที่ 1 กันยายนของทุกปี จึงเป็นวันระลึกถึงความเสียสละของท่าน เพื่อให้ทุกคนจดจำ หวงแหนธรรมชาติ และสานต่อเจตนารมณ์ของ สืบ นาคะเสถียร ...สืบไป

มูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร

          หลังจากการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ธรรมชาติต่างนับว่าเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ และไม่อาจปล่อยผ่านไปได้โดยปราศจากความทรงจำ ดังนั้นพวกเขาจึงรวมตัวกัน และสืบสานเจตนารมณ์ดี ๆ ของชายผู้แลกชีวิตของเขากับผืนป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงถือกำเนิดขึ้น ..
          การก่อตั้ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร นั้นเริ่มต้นขึ้นหลังจากงานพระราชเพลิงศพของเขา 10 วัน และมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2,448,540 บาท เพื่อก่อตั้งมูลนิธิ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ ได้ประทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้อีก 100,000 บาท รวมถึงการบริจาคจากผู้ที่ร่วมรำลึกถึงอีกหลายราย จนกระทั่งได้เป็นทุนก่อตั้งมูลนิธิรวม 16,500,000 บาท

ยำมาม่า

 ยำมาม่า

          มาม่า อาหารสามัญประจำห้องต้องมีติดไว้ตลอด เอาไว้กินตอนป่วยเป็นโรคซางจั๊บ แหะๆ บางทีไม่ทันปลายเดือนก็แก้ป่วยละ อิอิ^^ ต้มมาม่ากินบ่อยๆก็เบื่อ อยากกินอะไรแซ่บๆ บ้าง จับมายำดีกว่าใครมีอะไรในตู้เย็นก็จับมาใส่เลย (ยำจริงๆ) บางทีมาม่าไม่มีก็เอาเส้นไวไว กลายเป็นยำไวไวไปซะงั้น เรื่องความแตกต่างของเส้นไม่ได้มีผลมาก แต่เราว่าเส้นไวไวมันจะออกแข็งกว่านิดหน่อยใครชอบแบบไหนก็เลือกเอา แต่ใช้มาม่าต้มยำอ่ะคุ้มเพราะว่าได้น้ำพริกเผามาใส่เพิ่มความแซ่บของยำด้วย

ส่วนผสมและสัดส่วน
1.เส้นมาม่า(หรือไวไว) 1-2 ซอง
2.หมูยอ 1/4 แท่งเล็ก
3.หมูสับ แล้วแต่ชอบ
4.หอมหัวใหญ่ 1/2หัว
5.ขึ้นฉ่าย 1 ต้น
6.มะเขือเทศ 1 ลูก
7.เห็ดหูหนูขาว 1/4 ถ้วย
8.พริกสับ 4-5 เม็ด
เครื่องปรุง
1. น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
2. น้ำตาล1/4 ช้อนโต๊ะ
3. น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
4. น้ำพริกเผา (เอาจากในซองมาม่านี่ละ หรือไม่ใส่ก็ได้ค่ะ)
วิธีปรุง
1. ล้างผักและหั่นเตรียมไว้ เครื่องยำพวกเนื้อสัตว์ลวกและหั่นไว้
2. นำเส้นมาม่าไปลวกประมาณ 2-3 นาที อย่าให้นิ่มหรือเละเกินไป เอาไปยำจะไม่อร่อย สะเด็ดน้ำแล้วเอาใส่ชามไว้
3. ทำน้ำยำโดยผสมเครื่องปรุงต่างและพริกสับเข้าด้วยกัน คนให้น้ำพริกเผาละลายดี ชิมรสตามชอบ
4.ใส่หมูสับ หมูยอ และเส้นลงไปคลุกให้เข้ากัน ตามด้วยเห็ด ขึ้นฉ่าย หัวหอมและมะเขือเทศ (น้ำลายไหล^ ^~)
เคล็ดลับน่ารู้
ถ้าทำเยอะๆควรทำน้ำยำแยกไว้ เวลาจะกินค่อยเอาเส้นมาม่าและเครื่องยำใส่ เส้นจะได้ไม่อืดเละไม่อร่อย

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กระทงใบตอง

          

กระทงใบตอง วิธีทำกระทงใบตอง




กระทงใบตอง
วิธีทำกระทงใบตอง


วิธีทำกระทงใบตอง (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

           
วิธีทำกระทงใบตอง เนื่องในวันลอยกระทง เรามี วิธีทำกระทงใบตอง 3 แบบมาให้เลือกเพื่อประดิษฐ์ไว้ใช้ในงานวันลอยกระทง 


           กระทงใบตอง แบบที่ 1 กลีบผกา

          วิธีทำกระทงใบตอง 

          1. ตัดใบตองขนาดความกว้าง 1.5 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว โดยประมาณ 

          2. พับตามรูป จำนวน 3 กลีบ จากนั้นนำมาวางซ้อนให้ลดหลั่นกันไปตามภาพ ซึ่งจะนับเป็น 1 ตับ 

          3. นำไปติดโดยรอบที่ขอบของฐานกระทง ซึ่งเป็นต้นกล้วยตัดเป็นแว่น ความหนา 1.5 - 2 นิ้ว โดยประมาณ ทั้งนี้ปริมาณของกลีบกระทงที่ใช้จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของตัวฐาน  

          4. จากนั้นประดับด้วยดอกไม้ตามความชอบ และปักธูปเทียนลงไป เป็นอันเสร็จ 
กระทงใบตอง

 
           กระทงใบตอง แบบที่ 2 กลีบกุหลาบ 
          วิธีทำกระทงใบตอง  

          1. ตัดใบตองขนาดความกว้าง 1.5 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว โดยประมาณ 

          2. พับเป็นกลีบกุหลาบตามรูป จำนวน 3 กลีบ จากนั้นนำมาสวมเรียงกันให้มีระยะห่างพองามตามความชอบ ควรจัดให้ยอดของกลีบ และลอนของกลีบตรงเสมอเป็นแนวเดียว ซึ่งจะทำให้ผลงานออกมาดูสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย  

          3. ใช้ด้ายสีเขียวใกล้เคียงกับใบตอง หรือสีดำมาเย็บติดกันด้วยด้นถอยหลังให้เป็นแนวตรงเสมอกันโดยตลอด 

          4. พับกลีบใบตองแล้วเย็บต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถหุ้มขอบของฐานกระทงได้โดยรอบ ตรึงกลีบใบตองกับฐานของกระทงด้วยหมุด แล้วขลิบส่วนที่เลยพ้นฐานลงมาให้เรียบร้อยเสมอกับฐาน เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีลักษณะคล้ายกับมงกุฏสวมศีรษะ  

          5. จากนั้นประดับด้วยดอกไม้ตามความชอบ และปักธูปเทียนลงไป เป็นอันเสร็จ  

กระทงใบตอง

 
           กระทงใบตอง แบบที่ 3 หัวขวาน
          วิธีทำกระทงใบตอง 
 
          1. ตัดใบตองขนาดความกว้าง 1.5 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว โดยประมาณ 

          2. พับตามรูป จำนวน 3 กลีบ จากนั้นนำมาสวมเรียงกันให้มีระยะห่างพองามตามความชอบ เพื่อให้ผลงานออกมาดูสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ควรพับแต่ละกลีบให้ได้ขนาดเท่ากันทุกจุด 

          3. ใช้ด้ายสีเขียวใกล้เคียงกับใบตอง หรือสีดำมาเย็บติดกันด้วยด้นถอยหลังให้เป็นแนวตรงเสมอกันโดยตลอด 

          4. พับกลีบใบตองแล้วเย็บต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสามารถหุ้มขอบของฐานกระทงได้โดยรอบ ตรึงกลีบใบตองกับฐานของกระทงด้วยหมุด แล้วขลิบส่วนที่เลยพ้นฐานลงมาให้เรียบร้อยเสมอกับฐาน เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีลักษณะคล้ายอ่างน้ำ 

          5. จากนั้นประดับด้วยดอกไม้ตามความชอบ และปักธูปเทียนลงไป เป็นอันเสร็จ 

          สามารถนำการพับใบตองรูปแบบนี้ไปใช้ร่วมกับการพับรูปแบบอื่น ๆ ในผลงานชิ้นเดียวกันได้ตามความชอบ และความคิดดัดแปลง

          ส่วนตอนที่จะนำไปลอยนั้น บางคนอาจจะตัดเล็บ และผมใส่ลงไปด้วย ตามความเชื่อว่าเป็นการขจัดสิ่งร้าย ๆ ให้ออกไปจากตัวเรา หรือจะใส่เหรียญลงไปด้วย เพื่อนำมาซึ่งความมั่งคั่งตามความเชื่อก็ได้นะคะ

          ส่วนของตัวกระทง ใช้หยวกกล้วย หรือวัตถุที่ย่อยสลายได้ตัดให้เป็นวงโดยสูงประมาณ1-2.5 นิ้ว ส่วนขนาดแล้วแต่ความพอใจ ขั้นตอนต่อคือการนำเอาใบตองมาพับเป็นรูปทรงต่าง ๆ เพื่อประดิษฐ์เป็นกระทง