วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กรณีสวรรคต ร.8


ามอินทรา
กรณีสวรรคต ร.8 (ตอนที่ 1)
        - ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสให้การต่อศาลอาญา ณ สวนจิตรลดา เมื่อ 12 พ.ค. 2493 ดังนี้ (คัดลอกเฉพาะที่เกี่ยวกับขณะทรงประทับอยู่เมื่อเกิดเหตุ)
        (1) ในวันที่ 8 มิ.ย. 2489 ข้าพเจ้าไปในงานพระราชทานเพลิงศพพระองค์เจ้าอาทิตย์แทนในหลวงรัชกาลที่ 8 และ ในคืนเดียวกันได้ไปในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เหตุที่รัชกาลที่ 8 ไม่ได้เสด็จในงานพระศพพระองค์เจ้าอาทิตย์ก็เพราะทรงประชวร แต่อาการประชวรนั้นไม่ถึงขนาดต้องบรรทมอยู่กับพระแท่น ยังทรงพระราชดำเนินไปมาในพระที่นั่งได้ จะทรงประชวรด้วยโรคอะไรข้าพเจ้าไม่ทราบ ได้ยินรับสั่งเพียงว่าไม่สบาย
        (2) ในเช้าวันที่ 9 มิ.ย. 2489 ข้าพเจ้ารับประทานอาหารเช้าประมาณเวลา 08.30 ที่มุขพระที่นั่งชั้นบนด้านหน้า รับประทานอาหารแล้วข้าพเจ้าได้เดินไปทางห้องบรรทมของในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งเป็นเวลา 09.00 ได้พบนายชิตกับนายบุศย์นั่งอยู่ที่หน้าห้องแต่งพระองค์ ข้าพเจ้าได้ถามเขาว่า "ในหลวงพระอาการเป็นอย่างไร" ได้รับคำตอบว่าพระอาการดีขึ้น ได้เสด็จห้องสรงแล้ว ใครเป็นผู้ตอบจำไม่ได้ ต่อจากนั้นข้าพเจ้าได้เดินไปยังห้องของข้าพเจ้าโดยเดินไปตามเฉลียงด้านหลัง ตรงเข้าไปในห้องนอนของข้าพเจ้าแล้วก็เข้าไปในห้องเครื่องเล่น เดินเข้าๆออกๆอยู่ที่สองห้อง ระหว่างนั้นเวลาประมาณ 09.25 ได้ยินเสียงคนร้องเป็นเสียงใครนั้นจำไม่ได้ ได้ยินในขณะที่อยู่ในห้องเครื่องเล่น ก่อนได้ยินเสียงร้องได้เห็นคนวิ่งผ่านประตูห้องบันไดซึ่งอยู่ติดกับห้องเครื่องเล่น ข้าพเจ้าได้ออกจากห้องเครื่องเล่นไปยังเฉลียงด้านหน้า โดยผ่านห้องบันไดได้พบ น.ส.จรูญที่หน้าห้องข้าหลวง สอบถาม น.ส.จรูญว่าเกิดเรื่องอะไร ได้รับคำตอบว่าในหลวงทรงยิงพระองค์ ข้าพเจ้าได้ยินดังนั้นก็ตรงไปยังห้องพระบรรทมในหลวงรัชกาลที่ 8
        - สำนักข่าว BBC ประเทศอังกฤษซึ่งมาทำข่าวสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ห้วงปี พ.ศ.2521 - 2522 ในช่วงหนึ่งได้มีการสัมภาษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ซึ่งปรากฏอยู่ในสารคดี Soul of a Nation ดังนี้
ผู้สื่อข่าว : ท่านเชื่อว่า ร.8 สิ้นพระชนม์อย่างไร
ในหลวง : จากหลักฐานทางราชการ รัชกาลที่ 8 สิ้นพระชนม์ด้วยลูกปืนที่ยิงเข้าที่    พระนลาฏ และ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุบัติเหตุ ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย แต่ไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นมันจึงเป็นความจริงที่ไม่แน่ชัด ข้าพเจ้าทราบเพียงแค่ว่าอะไรเกิดขึ้น หลังจากเกิดเหตุร้ายขึ้นหลักฐานต่างๆก็ถูกสับเปลี่ยนไป และเพราะว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง แม้แต่อธิบดีตำรวจก็เล่นการเมือง เพราะเมื่อไปถึงรัชกาลที่ 8 ก็ได้สิ้นพระชนม์แล้ว ในเรื่องนี้ประชาชนก็ต้องการที่จะทราบความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะทุกคนเสียใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้

รณีสวรรคต ร.8 (ตอนที่ 2)
        จากคำพิพากษาศาลฎีกา วันที่ 12 ตุลาคม 2497 ซึ่งผู้พิพากษาได้อ่านคำให้การของโจทก์ จำเลย และสรุปเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินคดี เอาไว้ดังนี้
        - โจทก์นำสืบโดยสรุป วันที่ 8 มิถุนายน 2489 ทรงพระประชวรเกี่ยวกับพระนาภี งดเสด็จงานพระราชทานเพลิงศพ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และงานที่กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เวลา 17.00 นาฬิกา หลวงนิตย์เวชวิศิษฐ์ถวายตรวจพระวรกาย ปรากฏมีพระอาการไข้เล็กน้อย ขอให้สมเด็จพระราชชนนีได้ถวายพระโอสถ   ใบแวลยินแก้ไข้ 1 เม็ด ตอนค่ำถวายสวนล้างพระนาภีถวายยาอ๊อบตาลิดอนแก้เมื่อย และตอนเช้าถวายน้ำมันละหุ่งอีกครั้งหนึ่ง
        ในวันที่ 8 นี้พระอาการไม่มาก เสด็จไปเสวยพระกระยาหารเช้าและกลางวันอย่างปกติ
        ส่วนพระกระยาหารค่ำสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งให้จัดมาเสวยร่วมที่ห้องทรงพระสำราญ สมเด็จพระราชชนนีได้เฝ้าถวายพระโอสถและอื่นๆ อยู่ จนเสด็จเข้าที่พระบรรทมเมื่อเวลาประมาณ 21.00 นาฬิกา แล้วจึงเสด็จจากไป รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลาราว 6.00 นาฬิกา สมเด็จพระราชชนนีเสด็จไปปลุกบรรทม รับสั่งถามว่า หลับสบายดีไหม? ทรงตอบว่าหลับดี สมเด็จพระราชชนนีถวายน้ำมันละหุ่งผสมกับบรั่นดี แล้วทรงรู้สึกว่ายังใคร่จะบรรทมต่อ จึงถวายโอกาสโดยรีบเสด็จกลับไป ขณะนั้นมหาดเล็กห้องบรรทมยังไม่มีใครมาต่อเวลา 07.00 นาฬิกาเศษ นายบุศย์เวรประจำจึงมาและนั่งอยู่ตามหน้าที่ที่ระเบียงหน้าพระทวารห้องแต่งพระองค์ ซึ่งเป็นทางเข้าสู่ห้องพระบรรทม ครั้นเวลา 08.00 นาฬิกาเศษ นายชิตได้มานั่งอยู่คู่กับนายบุศย์
         เวลาราว 09.00 นาฬิกา สมเด็จพระราชอนุชาเสด็จไปที่ระเบียงหน้าพระทวารห้องแต่งพระองค์รับสั่งถามนายชิต นายบุศย์ว่าในหลวงมีอาการเป็นอย่างไร ทรงได้รับคำตอบว่า ทรงสบายดีขึ้น เสด็จเข้าห้องสรงแล้วสมเด็จพระอนุชาก็เสด็จกลับยังห้องพระบรรทมของพระองค์
         ต่อนั้นมาเวลาไม่ถึง 09.30 นาฬิกา มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ภายในห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นสมเด็จพระราชชนนีจะเสด็จออกจากห้องบรรทมของพระองค์ ไปเสวยพระกระยาหารเช้า นายชิตวิ่งไปกราบทูลว่า “ในหลวงยิงพระองค์” สมเด็จพระราชชนนีก็ทรงวิ่งไปทันที นายชิต นางสาวเนื่อง จินตดุลย์ สมเด็จพระราชอนุชา และนางสาวจรูญ ตะละภัฏ ตามติดๆ เข้าไปในห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
        ขณะนั้นปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมหงายบนพระแท่น พระเศียรหนุนพระเขนยดุจบรรทมหลับอย่างปกติ มีผ้าดอกคลุมพระองค์อยู่เรียบ ตั้งแต่เหนือพระอุระตลอดลงไปจนถึงข้อพระบาท กึ่งกลางของผ้าอยู่กึ่งกลางของพระองค์พอดี ชายผ้าทั้งสองข้างล้ำพระองค์ออกมาพอๆ กัน ผ้าลาดพระยี่ภู่ปูอยู่เรียบดี พระเขนยคงอยู่ในที่ตามปกติ มีพระโลหิตไหลโทรมพระพักตร์ลงมาที่พระเขนยและผ้าลาดพระยี่ภู่ พระเศียรตะแคงไปทางด้านขวาเล็กน้อยเหนือพระขนงซ้ายมีแผลกระสุนปืนหนังฉีกเป็นแฉกคล้ายเครื่องหมายคูณกว้างยาวประมาณ 4 เซนติเมตร พระเนตรทั้งสองหลับสนิท ไม่ได้ทรงฉลองพระเนตร ฉลองพระเนตรวางอยู่บนโต๊ะเล็กข้างพระแท่น พระเกศาแสกเรียบอยู่ในรูปที่เคยทรง พระโอษฐ์ปิด พระกรทั้งสองเหยียดทอดทับนอกผ้าคลุมพระองค์แนบพระวรกายตามปกติ พระหัตถ์ทั้งสองแบอยู่ในท่าธรรมดา พระบาททั้งสองเหยียดทอดชิดกันอยู่ที่ห่างจากปลายพนักพระแท่นประมาณ 7 เซนติเมตร มีปืนของกลางขนาด 11 มม.วางอยู่ข้างพระกรซ้าย ลำกล้องขนานและห่างพระกร 1 นิ้ว ปากกระบอกหันไปทางพระบาท ศูนย์ท้ายของปืนอยู่ตรงระดับข้อพระกร(ข้อศอก)
         นางสาวเนื่องเห็นพระวรกายแน่นิ่งไม่ไหวติง จึงเข้าจับชีพจรที่ข้อพระหัตถ์ซ้ายยังเต้นแรงและเร็วอยู่สักครึ่งหรือหนึ่งนาทีก็หยุดเต้นแล้วนางสาวเนื่องใช้ 3 นิ้วจับกลางกระบอกปืนนั้นขึ้นวางบนหลังตู้เล็กข้างพระแท่น รู้สึกว่ากระบอกปืนไม่ร้อนไม่เย็น และไม่มีอะไรเปื้อนเปรอะ การที่หยิบย้ายปืนไปเสียนั้น เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยแก่สมเด็จพระราชชนนีซึ่งยังคงซบพระพักตร์อยู่ที่พระชงฆ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รณีสวรรคต ร.8 (ตอนที่ 3)
         จากคำพิพากษาศาลฎีกา วันที่ 12 ตุลาคม 2497 ซึ่งผู้พิพากษาได้อ่านคำให้การของโจทก์ จำเลย และสรุปเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินคดี เอาไว้ดังนี้
        โจทก์นำสืบต่อไปว่า เวลา 10.00 นาฬิกา เมื่อ ม.ร.ว.เทวาธิราชทราบข่าวการสวรรคตแล้วได้ไปพบนายปรีดีที่ศาลาท่าน้ำทำเนียบท่าช้าง บอกว่าสวรรคตแล้ว นายปรีดีร้อง "เอ๊ะ อะไรกัน" มีท่าทางสะดุ้งตัว แสดงว่าตกใจ ม.ร.ว.เทวาธิราชตอบว่าไม่ทราบ อีกซัก 15 นาที ม.จ.นิกรเทวัญ ซึ่งถูกเรียกก็มาถึง เวลานั้นนายปรีดีก็แต่งตัวเสร็จแล้วกำลังเดินอยู่หน้าตึกรับแขก ม.จ.นิกรเทวัญเข้าไปหานายปรีดีแล้วเงยหน้าเป็นเชิงถาม พอไปชิดตัว นายปรีดีพูดเป็นภาษาอังกฤษพอได้ยินเฉพาะตัวแปลเป็นภาษาไทยว่าในหลวงปลงพระชนม์พระองค์เองและพูดต่อไปว่ารอท่านอยู่น่ะซีเข้าไปในวังด้วยกันแล้วก็พากันเข้าไปในพระที่นั่งบรมพิมาน พร้อมทั้ง พ.อ.ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และพลตำรวจโท พระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่ง 2 คนหลังนี้ได้ไปอยู่ที่ทำเนียบท่าช้างก่อนตั้งแต่เช้าแล้ว
        ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอลงกฏ ข้าราชการผู้ใหญ่อีกหลายท่าน ก็เสด็จและไปถึงทยอยๆ กัน
        นายปรีดีในฐานะนายกรัฐมนตรี และว่าการสำนักพระราชวังให้เรียกตัวนายชิต นายบุศย์ นางสาวเนื่องมาสอบถาม
        นายชิตให้ถ้อยคำในเวลานั้นว่าในหลวงยิงพระองค์ นายปรีดีให้ทำท่าให้ดูนายชิตจึงลงนอนหงายมือจับปืนทำท่าส่องหน้าที่หน้าผาก ม.จ.ศุภสวัสดิ์ ซี่งอยู่ในที่นั้นรับสั่งว่า ปืนอย่างนี้ยิงเองที่พระนลาฏอย่างนั้นไม่ได้ จึงปรึกษากันว่าจะออกแถลงการณ์อย่างไรดี นายปรีดีพูดว่าออกแถลงการณ์ว่าสวรรคตเพราะนาภีเสียได้ไหม หลวงนิตย์ตอบว่า ออกเช่นนั้นผมไปก่อนเพื่อนแน่ เพราะเมื่อวานนี้ยังดีๆ อยู่วันนี้สวรรคตไม่ได้ พันเอกช่วงว่า ถ้าอย่างนั้นเอาเป็นโรคหัวใจได้ไหมหลวงนิตย์ ฯตอบว่า ไม่ได้เหมือนกัน เพราะอย่างไรคนก็ต้องทราบความจริง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรรับสั่งว่าเห็นจะต้องแถลงตามความจริง นายปรีดีว่า เพื่อถวายพระเกียรติให้ออกแถลงการณ์ว่าเป็นอุบัติเหตุ จึงได้ออกแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังเป็นฉบับแรก ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2489
        เกี่ยวกับบาดแผลที่พระบรมศพ ครั้งแรกหลวงนิตย์ฯ ไม่ได้พบแผลทางเบื้องหลังพระเศียร เข้าใจว่ามีแผลทางพระนลาฏด้านเดียวบรรดาท่านที่ประชุมกันอยู่ก็พลอยเข้าใจเช่นนั้น ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 10 เจ้าหน้าที่จากสภากาชาดมาแต่งพระบรมศพ เพื่อเตรียมการสรงน้ำพระบรมศพในตอนเย็นมีพระเกศาปกคลุมบาดแผล ทำให้แลเห็นเป็นแผลเล็กกว่าแผลที่พระนลาฏ จึงมีเสียงกล่าวกันว่า ถูกยิงทางเบื้องหลังพระเศียรทะลุออกทางพระนลาฏ
        ด้วยเหตุที่มีเสียงครหาว่า คำแถลงการณ์ฉบับแรกไม่ถูกต้องต่อความจริง นายกรัฐมนตรีและพระบรมวงศานุวงศ์ได้ประชุมกันพิจารณารายงานของอธิบดีกรมตำรวจ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน แล้วได้ออกเป็นคำแถลงการณ์ของกรมตำรวจในวันที่ 10 มิถุนายน 2489 มีข้อความพิศดาร ประกอบคำแถลงการณ์ของสำนักพระราชวัง เพื่อจะให้ฟังได้หนักแน่นยิ่งขึ้น โดยอ้างการสอบสวนอย่างกว้างขวาง ตั้งเป็นข้อสังเกต 3 ประการ คือ 1.มีผู้ลอบปลงพระชนม์ 2.ทรงปลงพระชนม์เอง 3.อุบัติเหตุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น