วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การยกพลขึ้นบกในวัน ดี เดย์ ในสงครามโลกครั้งที่ 2

การยกพลขึ้นบกในวัน ดี เดย์ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 

การยกพลขึ้นบกในวัน ดี เดย์ ในสงครามโลกครั้งที่ 2



โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ





การยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตร ที่หาดนอร์มังดี ของฝรั่งเศสในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 หรือที่เรียกว่าวัน ดี เดย์ จะเห็นเมืองแชร์บูรกก์ (Cherbourg) อยู่ทางซ้ายมือของแผนที่ ถัดมาคือหาดยูท่าห์ (Utah) โอมาฮ่า (Omaha) โกลด์ (Gold) จูโน (Juno) และซอร์ด (Sword) สีแดงคือกำลังของฝ่ายเยอรมัน จะเห็นกำลังของกองพลยานเกราะที่ 21 (21st Panzer Division) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองคานส์ (Caen) ถัดมาทางขวา จะเห็น กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 12 ฮิตเลอร์จูเกน (12th SS. Panzer Division Hitler Jugend) ทางขวาล่างขงแผนที่จะเห็นกองทัพ บี ของจอมพล เออร์วิน รอมเมล ผู้รับผิดชอบกำแพงแอตแลนติค ต่อต้านการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตร



-----------------------------



วันที่ 6 มิถุนายน 1944 ถือว่าเป็นวันดี เดย์ เป็นวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทุ่มกำลังยกพลขึ้นบก โจมตีป้อมปราการยุโรปของฮิตเลอร์ (Fortress Europe) ด้วยกำลังมหาศาลเท่าที่เคยมีมา เพื่อเปิดสงครามด้านที่สองของเยอรมัน ซึ่งกำลังเผชิญกับรัสเซียทางด้านตะวันออก 

จริงๆแล้วเยอรมันนั้นรู้ล่วงหน้ามาก่อนแล้วว่าฝ่ายสัมพันธมิตร จะทำการยกพลขึ้นบกในฝรั่งเศส แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นที่ใด เนื่องจากแนวชายทะเลของฝรั่งเศสด้านที่ติดกับอังกฤษนั้นยาวมาก ฮิตเลอร์และฝ่ายเสนาธิการบางคนเชื่อว่า การยกพลขึ้นบกจะเกิดขึ้นที่ เมืองท่าคาเล่ย์ (Calais) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือและเป็นส่วนที่แคบที่สุดระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส 

ในขณะที่ จอมพลเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ของนาซีเยอรมัน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพกลุ่มบี ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือน พย. 1943 เชื่อว่าการยกพลขึ้นบกจะเกิดขึ้นในบริเวณอื่น เขาจึงสั่งการให้สร้างสร้างป้อมและบังเกอร์ขึ้นเรียงรายตามแนวชายฝั่งฝรั่งเศส เพิ่มจำนวนรังปืนกล เครื่องยิงลูกระเบิดหรือปืนครก บนหาดก็มีการสร้างสิ่งกีดขวางสำหรับเรือยกพลขึ้นบก ที่เรียกว่า เม่นทะเลและงาแซง บวกกับการติดทุ่นระเบิดและกับระเบิดจำนวนมากเข้าไป แนวตั้งรับนี้มีชื่อเรียกว่า กำแพงแอตแลนติค (Atlantic Wall) 

รอมเมลเชื่อว่าชัยชนะของการต่อต้านการยกพลขึ้นบกจะอยู่ที่ชายหาด ใครที่ยึดหาดได้จะเป็นผู้ชนะ แต่ฮิตเลอร์มองว่า หากการยกพลขึ้นบกเกิดขึ้นจริง การรบขั้นแตกหักจะอยู่บนฝั่ง คือปล่อยให้พันธมิตรขึ้นฝั่งแล้วใช้กำลังเข้าบดขยี้ 

ด้วยความเห็นที่แตกต่างกันนี้เอง ฮิตเลอร์จึงสั่งการให้วางกำลังส่วนใหญ่ไว้ในแนวหลัง เนื่องจากไม่มั่นใจว่าการยกพลขึ้นบกจะเกิดที่ใด เมื่อมีการยกพลขึ้นบก ก็จะใช้กำลังหลักที่อยู่ส่วนหลังนี้เข้าเสริมกำลังที่ป้องกันชายหาด ส่วนรอมเมลต้องการให้วางกำลังหลักตามแนวชายหาดเพื่อสกัดกั้นการยกพลขึ้นที่ชายหาดได้ทันท่วงที 

แน่นอนฮิตเลอร์เป็นฝ่ายชนะในความคิดของเขา ฮิตเลอร์และนายพลรุดชเท็ด (Gerd Von Rundstedt) จึงดึงกำลังสำคัญ เช่น หน่วยยานเกราะ (Panzer) เกือบทั้งหมดไปอยู่ส่วนหลัง เหลือเพียงกองพลยานเกราะที่ 21 (21st Panzer Division) ให้รอมเมลบังคับบัญชาเพียงกองพลยานเกราะเดียว 

นอกจากนี้รอมเมลยังมีกองพลทหารราบอีก 38 กองพล วางกำลังอยู่ตั้งแต่เมืองท่าคาเล่ย์ ของฝรั่งเศส ขึ้นเหนือไปถึงฮอลแลนด์ และเลยลงไปทางใต้ถึงชายแดนสเปน จะเห็นว่าแนวตั้งรับของเยอรมัน มีระยะทางยาวมาก กำลังทหารเยอรมัน จึงดูไม่เพียงพอต่อการต่อต้านการยกพลขึ้นบก ในขณะเดียวกัน กำลังทางอากาศของเยอรมัน(Luftwaffe) ก็มีเครื่องบินขับไล่เพียง 70 ลำ เครื่องบินทิ้งระเบิด 90 ลำ และเครื่องบินอื่นๆ 160 ลำ น้อยเกินไปที่จะรับมือกับฝูงบินพันธมิตรจำนวนมหาศาล 

กำลังของพันธมิตร ที่จะทำการยกพลขึ้นบกนั้นประกอบด้วย กองพลทหารราบ 39 กองพล (สหรัฐ 20 กองพล อังกฤษ 3 กองพล คานาดา 1 กองพล ฝรั่งเศสอิสระ 1 กองพลและโปแลนด์ 1 กองพล) มีเครื่องบินขับไล่ กว่า 5,000 ลำ เครื่องร่อน 2,600 ลำ เรือรบและเรืออื่นๆกว่า 6,000 ลำ จะเห็นว่ากำลังทหารราบของทั้งสองฝ่ายใกล้เคียงกันที่จำนวน แต่เยอรมันกระจายกันตั้งแต่เหนือจรดใต้ ในขณะที่พันธมิตรทุ่มไปที่จุดๆเดียว 

กองทัพนาซีเยอรมันเชื่อว่า การยกพลขึ้นบกจะมีขึ้นในฤดูร้อนของปี 1944 เพราะมีการเตรียมการขนานใหญ่ที่สามารถสังเกตุเห็นได้ชัดในอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นการระดมพลครั้งยิ่งใหญ่ การระดมเรือทั้งเรือยกพลขึ้นบก เรือลำเลียงขนาดใหญ่ เรือรบนานาชนิด แต่วันเวลาที่แน่นอนนั้น ก็ยังเป็นความลับที่ดำมืด 

ฝ่ายสัมพันธมิตรเองก็พยายามลวงให้เยอรมันมั่นใจว่า การยกพลขึ้นบกจะมีขึ้นที่คาเล่ย์ (Calais) สายลับของทั้งสองฝ่ายทำงานกันอย่างหนัก สายลับพันธมิตรพยายามปล่อยข่าวสถานที่ยกพลขึ้นบกหลายแห่ง จนสายลับเยอรมันในอังกฤษเกิดความสับสน 

และแล้วนายพลไอเซนฮาว (Eisenhower) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจว่าการบุกจะเกิดขึ้นที่ใด และเมื่อใด ก็วางแผนที่จะเริ่มการยกพลขึ้นบกในวันที่ 5-6-7 มิย. 1944 ในเวลารุ่งอรุณ แต่สภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย คลื่นลมบริเวณช่องแคบอังกฤษแรงราวกับทะเลกำลังบ้าคลั่ง ทำให้การปฏิบัติการต้องเลื่อนออกไปอีก 24 ชั่วโมง จนกระทั่งเช้าของวันที่ 6 มิย. ไอเซนฮาวจึงตกลงใจที่จะเริ่มการยกพลขึ้นบก

ฝ่ายเยอรมันนั้นก็สับสนกับข่าวการยกพลขึ้นบก ข่าววิทยุจากสถานีวิทยุบี บี ซี ที่กระจายเสียงจากกรุงลอนดอนของอังกฤษ สามารถรับฟังได้อย่างชัดเจนในฝรั่งเศส ซึ่งมักจะส่งข่าวให้พวกใต้ดินในฝรั่งเศส ผ่านทางข้อความที่เป็นรหัสลับ ออกข่าวเป็นเป็นบทกวีว่า "Chanson d'Automne" ซึ่งเป็นสัญญานให้หน่วยใต้ดินฝรั่งเศสทราบว่าการรุกกำลังจะเกิดขึ้น 

เยอรมันสามารถจับรหัสนี้ได้ แต่สภาพอากาศที่เลวร้าย ทะเลที่มีแต่คลื่นลมแรง ทำให้เยอรมันตายใจ ไม่คิดว่าการยกพลจะเกิดขึ้นในสภาพอากาศที่เลวแบบนี้ จอมพลรอมเมลเอง ก็เดินทางกลับเยอรมันเพื่อไปเยี่ยมภรรยาของเขา ไม่มีใครคาดคิดว่า การยกพลขึ้นบกที่ยิ่งใหญ๋ที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่กำลังจะเกิดขึ้น 

และแล้วในคืนของวันที่ 5 ต่อเช้ามืดของวันที่ 6 มิย. พันธมิตรก็ได้ทำแผนลวง เช่น ส่งพลร่มลงที่หมายอื่นๆ ในฝรั่งเศส มีการปฏิบัติการทางอากาศที่เมืองบูโลน (Boulogne) ในขณะเดียวกันกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมดก็ออกจากอังกฤษ มุ่งหน้าสู่นอร์มังดี (Normandy) ท่ามกลางความมืดสนิท พลร่มและเครื่องร่อนบรรทุกทหารราบของสหรัฐและอังกฤษ ร่อนลงในดินแดนส่วนหลังของแนวตั้งรับของเยอรมันตามชายหาด และในแผ่นดินใหญ่ เพื่อป้องกันการเสริมกำลังของเยอรมัน 

หาดต่างๆ ถูกแบ่งออกโดยใช้นามเรียกขานคือ ยูท่าห์ (Utah), โอมาฮ่า (Omaha), โกลด์ (Gold), จูโน (Juno), และซอร์ด (Sword) (ดูแผนที่การยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี)

กองพลพลร่มที่ 6 ของอังกฤษบุกขึ้นบกที่หาดซอร์ด (Sword) และยึดได้อย่างง่ายดาย กองพลพลร่มหรือกองพลส่งทางอากาศของสหรัฐที่ 82 และ 101 อันเลื่องชื่อ บุกเข้ายึดหาดยูท่าห์ (Utah) แต่ได้รับการต้านทานจากเยอรมัน จึงมีการสูญเสียมากกว่าหาดของอังกฤษ เนื่องจากเยอรมันทราบถึงการเข้าโจมตีของทหารพลร่ม จึงต่อสู้อย่างทรหด 

แต่เนื่องจากการขาดการเตรียมพร้อม ทำให้เยอรมันต่อต้านได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น กองพลทหารราบที่ 4 ของสหรัฐซึ่งยกพลขึ้นบกที่ยูท่าห์ พร้อมทั้งรถถังแบบ เอ็ม 4 เชอร์แมน (M 4 Sherman) สามารถรุกเข้าสมทบกับหน่วยพลร่มกองพลที่ 101 ได้ในที่สุด

สถานการณ์่รุนแรงที่สุดน่าจะเป็นที่หาดโอมาฮ่า (Omaha) ซึ่งกองพลทหารราบที่ 1 (1st US Infantry Division) ของสหรัฐ ที่ได้รับการสนับสนุนด้วยรถถังเพียง 5 ลำ ได้พบกับหน่วยทหารเยอรมันที่มีประสบการณ์จากกองพลที่ 352 แม้ปืนเรือจะได้ระดมยิงหาดก่อนการยกพลขึ้นบกอย่างหนัก แต่กำลังของเยอรมันส่วนใหญ่ ก็แทบไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด 

ดังนั้นเมื่อฝ่ายอเมริกันมาถึงหาดก็พบว่า พวกเขาถูกยิงตรึงอย่างหนาแน่น ยอดผู้บาดเจ็บเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความสูญเสียมีมากถึงขนาดนายพลโอมาร์ แบรดลี่ย์ (Omar Bradly) ของสหรัฐ ได้พิจารณาถึงการถอนตัวจากหาดโอมาฮ่า ก่อนที่มีการสูญเสียมากกว่าที่เป็นอยู่ 

แต่ในที่สุด เมื่อเวลา 1100 น. หาดโอมาฮ่าก็ตกเป็นของอเมริกัน เยอรมันถูกกดดันให้ถอยร่นไปตั้งรับที่แนวถนนของหาด

ณ หาดจูโน กองพลทหารราบที่ 3 ของแคนาดา พบกับการต้านทานจากฝ่ายเยอรมัน ที่ปักหลักอยู่ตามที่มั่นที่แข็งแรง ตามแนวชายหาด แม้ว่ารถถังของทหารแคนาดาจะไม่สามารถขึ้นฝั่งได้ เนื่องจากคลื่นลมที่แรงจัด ทหารแคนาดา ก็ต่อสู้อย่าง เด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ โดยปราศจากการสนับสนุนของอาวุธหนัก และสามารถรุกคืบหน้าได้ถึง 11 กม.จากชายหาด

ส่วนที่ หาดโกลด์ กองพลทหารราบที่ 50 และกองพลน้อยยานเกราะที่ 8 ของกองทัพอังกฤษที่พรั่งพร้อมไปด้วยรถถัง และอาวุธหนัก ได้บุกเข้าโจมตีแนวต้านทานของเยอรมันตลอดแนวชายหาด 

การสู้รบที่หนักหน่วงที่สุด เกิดขึ้นที่ หมู่บ้าน Le Hamel ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่สงบ ตั้งอยู่ตามแนวชายหาด ทหารเยอรมันส่วนสมทบของกองพลที่ 352 ได้ยึดหมู่บ้านเอาไว้ และดัดแปลงให้เป็นป้อมปราการ มีการวางปืนใหญ่ขนาด 75 มม.จำนวนหนึ่งเอาไว้ ซึ่งสามารถยิงครอบคลุมได้ทั่วทั้งหาด 

นอกจากนี้ ทหารเยอรมันยังได้นำปืนกลหนักไปซุ่มไว้ตามอาคารต่างๆ พร้อมด้วยพลซุ่มยิง การต้านทานดังกล่าว ทำให้ รถถังของทหารอังกฤษ 4 ใน 5 คันถูกทำลายทันที ที่ถึงหาดโกลด์
์ 
การต้านทานของเยอรมันไม่ใช่มีแค่เพียงบนหาดเท่านั้น ทหารเยอรมันยังวาง "งาแซง" ซึ่งทำจากท่อนเหล็กรางรถไฟ ตัดเป็นท่อนแล้วมาประกอบกันเป็น สามเหลี่ยม ความสูงกว่า 1 เมตร จำนวนมากกว่า 2,500 อัน 

เมื่ือน้ำ้ขึ้น "งาแซง" นี้ จะมองไม่เห็น เพราะถูกน้ำท่วม จนเกือบมิด แต่ปลายสามเหลี่ยมที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ก็สามารถฉีกท้องเรือยกพลขึ้นบก จนได้รับความเสียหาย ใช้การไม่ได้ ส่วนหาดทรายก็มีทั้งลวดหนาม และกับระเบิด จำนวนมากมาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าทหารเยอรมันจะต้านทานอย่างเหนียวแน่นเพียงใด ทหารอังกฤษก็ต่อสู้อย่างยืนหยัดนานกว่า 8 ชม. โดยปราศจากอาวุธหนักอย่างรถถัง การต่อสู้ดุเดือดจนถึงขั้นประชิดตัว (hand to hand fighting) ในที่สุดทหารอังกฤษ ก็สามารถรุกเข้าไปได้ถึง 13 กม. จากหัวหาดโกลด์

สิ้นสุดวันอันยาวนาน (the longest day) ฝ่ายสัมพันธมิตรกว่า 150,000 คน ก็สามารถยึดครองพื้นที่กว่า 200 ตารางกิโลเมตร ตามแนวหาดนอร์มังดีได้ สายน้ำแห่งสงครามได้มาถึงจุดวกกลับแล้ว 

นับจากวันดี เดย์เป็นต้นไป เยอรมันก็เริ่มเป็นฝ่ายถอย ชัยชนะที่มีมาแต่ต้น กลายเป็นตำนานของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ของฮิตเลอร์ การเริ่มต้นของการปลดปล่อย ฝรั่งเศส ก็เริ่มต้นขึ้น พร้อมๆกับการเริ่มต้นของการล่มสลายของระบอบนาซีในปี 1945


-------------------------------------





ภาพถ่ายขณะทหารอเมริกาลงจากเรือยกพลขึ้นบก เพื่อเข้ายึดหาดนอร์มังดี ในวันดี เดย์ บนหาดไกลๆ จะเห็นภาพความโกลาหล การกระจัดกระจายของทหารระลอกแรก บ่งบอกว่า เรือยกพลลำนี้น่าจะเป็นระลอกที่สอง ที่ส่งมาตามระลอกแรก โปรดสังเกตุหมอกควันหนาทึบ ที่อยู่หลังชายหาดลึกเข้าไป ซึ่งเกิดจากจากการระดมยิงฝั่งของปืนเรือฝ่ายสัมพันธมิตร จะเห็นว่าระดมหนาแน่นมากทั้งกระสุนจริงและกระสุนควันเพื่อพรางการยกพลขึ้นบก



ภาพนี้คือสัญญลักษณ์ของกองพลที่ 352 ของเยอรมันที่ทำหน้าที่ตรึงชายหาดนอร์มังดีเอาไว้อย่างเหนียวแน่น แม้จะไม่ได้เตรียมการมาก่อน กองพลนี้ตั้งขึ้นในเดือน พ.ย. 1943 รับผิดชอบพื้นที่นอร์มังดี เดิมสังกัดอยู่ในกองทัพกลุ่ม ดี ต่อมาในเดือน พ.ค. 1941 จึงเปลี่ยนสังกัดกองทัพกลุ่ม บี ของนายพลเออร์วิน รอมเมล เจ้าของฉายา จิ้งจอกทะเลทราย ผู้รับผิดชอบกำแพงแอตแลนติค



ภายหลังที่สถาปนาความมั่นคงบนหาดนอร์มังดีแล้ว ทหารพันธมิตรกว่า 150,000 คนก็หลั่งไหลเข้าสู่หาด เพื่อปลดปล่อยฝรั่งเศสเป็นเป้าหมายต่อไป บอลลูนที่เห็นอยู่ด้านหลัง จะเป็นสิ่งขัดขวางการโจมตีระยะต่ำของเครื่องบินเยอรมันที่อาจมีต่อทหารพันธมิตร



ทหารอเมริกันอีกคนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้เห็นชัยชนะของสัมพันธมิตรเหนือหาดนอร์มังดี เครื่องกีดขวางที่เห็นอยู่ด้านข้าง แสดงให้เห็นว่า เมื่อน้ำขึ้น จะขึ้นสูงมากจนท่วมเครื่องกีดขวางนี้ ยอดของมันที่อยู่เรี่ยผิวน้ำจะเป็นตัวสกัดเรือยกพลขึ้นบกที่แล่นเข้ามา

ส่วนเครื่องกีดขวางที่เห็นอยู่ด้านหลัง เรียกว่า รอมเมลแอสปาราคัส (Rommel's Asparacus) ทำจากเหล็กรางรถไฟ หรือเสาเหล็กทั่วๆไป จะมีผลเมื่อน้ำขึ้นไม่สูงนัก นอกจากนี้บางส่วนของเครื่องกีดขวางเหล่านี้ ยังผูกกับระเบิดเอาไว้อีกด้วย




ทหารอเมริกันได้รับบาดเจ็บระหว่างการยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์ที่หาดโอมาฮ่า ความสูญเสียของอเมริกันที่หาดนี้มีมาก จนมีการพิจารณาถอนทหารออกจากหาด




ทหารอังกฤษกำลังวิ่งขึ้นจากเรือยกพลขึ้นบก ในวันดี เดย์ ท่ามกลางการระดมของฝ่ายเยอรมัน ฝ่ายอังกฤษค่อนข้างโชคดีกว่าทหารอเมริกันมาก ที่การต้านทานมีน้อยกว่า และการสูญเสียก็น้อยกว่าด้วยเช่นกัน





ความสูญเสียของฝ่ายพันธมิตรในวันดี เดย์ เป็นความสูญเสียที่คุ้มค่า เพราะนับจากนี้ไป สงครามกำลีงเดินทางไปสู่จุดสิ้นสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น